วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ค้างคืนที่เชียงคาน

ค้างคืนที่เชียงคาน .....


เชียงคาน เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เคยเป็นราชธานีหรือเมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือราชอาณาจักรลาวมาก่อน เมืองเชียงคานเก่า หรือเมืองสานะคาม (ชนะสงคราม) ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ทางยุทธศาสตร์สมัยราชอาณาจักรล้านช้าง ถูกก่อสร้างโดย ขุนคาม โอรสของขุนคัวแห่งอาณาจักรล้านช้าง เมื่อประมาณปีพ.ศ. 1400 ต่อมาประมาณปีพ.ศ. 2250 ทางเวียงจันทร์ได้ตั้งเมืองเชียงคานเดิม ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเป็นเมืองหน้าด่าน ต่อมา พ.ศ. 2320 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระสุรสีห์ ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทร์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต กลับมายังกรุงธนบุรี แล้วได้รวมอาณาจักรล้านช้างเข้าด้วยกันและให้เป็นประเทศราชของไทย แล้วได้กวาดต้อนผู้คนมาอยู่เมืองปากเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เมืองปากเหืองขึ้นกับเมืองพิชัย
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพไทยยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมา เนื่องจากเจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทร์คิดกอบกู้เอกราชเพื่อแยกเป็นอิสระจากไทย หลังจากปราบได้สำเร็จแล้ว ก็ไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาอยู่เมืองปากน้ำเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ไปขึ้นกับเมืองพิชัย

ครั้นถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกจีนฮ่อได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบางและได้เข้าปล้นสดมภ์เมืองเชียงคานเดิมที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ชาวเชียงคานเดิมจึงอพยพผู้คนไปอยู่เมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) เป็นจำนวนมาก ครั้นต่อมา เห็นว่าชัยภูมิเมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) ไม่เหมาะสม ผู้คนส่วนใหญ่จึงอพยพไปอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของอำเภอเชียงคานปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองใหม่เชียงคาน ต่อมาไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ทำให้เมืองปากเหืองตกเป็นของฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่เมืองปากเหืองจึงอพยพมาอยู่เมืองใหม่เชียงคาน หรืออำเภอเชียงคานปัจจุบันโดยสิ้นเชิง “แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองเชียงคานใหม่” ได้ตั้งที่ทำการอยู่บริเวณวัดธาตุ เรียกว่าศาลาเมืองเชียงคาน ต่อมาได้ย้ายที่อยู่บริเวณวัดโพนชัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2452 เมืองเชียงคานซึ่งมีพระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี ศรีประเสริฐ) ได้รับตำแหน่งนายอำเภอเชียงคานคนแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2484 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเชียงคานมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันตราบเท่าทุกวันนี้ 



ตักบาตรข้าวเหนียววิถีชาวเชียงคานที่ได้รับความนิยมจาก นักท่องเที่ยว



วิถีริมโขงที่ขับ เคลื่อนอย่างช้าๆในเชียงคาน



บ้านเรือนแบบดั้งเดิมเก่า หนึ่งในเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเชียงคาน

เมืองเชียงคาน ในปัจจุบันเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ในสายตาของนักท่องเที่ยว เป็นชุมชนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาได้ยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งเพิ่งจะมีการจัดงานฉลอง "100 ปี เชียงคาน เมืองโบราณ ริมฝั่งโขง" ไปเมื่อวันที่ 4-6 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมานี้เอง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์ให้คงอยู่สืบไป
เมืองเชียงคาน เมืองโบราณ.. บ้านไม้เก่าๆ ร้านกาแฟ มุมหนังสือเล็กๆ เท่านั้น แต่กลับมีนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว เดินเที่ยวกันให้เต็มไปหมด อาจจะด้วยเพราะเมืองเชียงคานนี้เงียบสงบ บรรยากาศดี ด้วยการที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์แต่ผสมผสานกับความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่มากจนเกินไปได้อย่างลงตัวในแบบฉบับของเชียงคาน ผู้คนที่เชียงคานก็เป็นมิตร อัธยาศัยดี และการไปเที่ยวที่เชียงคานก็ไม่แพงจนเกินกำลัง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเชียงคานแห่งนี้ ก็จะเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น หลายๆ สิ่งที่เชียงคานอาจเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม เชียงคานจะไม่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราทุกคนยังคงช่วยกันรักษาความเป็นเอกลักษณ์ ดำรงวิถีชีวิตในแบบของเชียงคานสืบไป ความเป็นเชียงคานที่คงความเป็นเอกลักษณ์ได้ยาวนานกว่าร้อยปี ก็จะเป็นเช่นเดิมตลอดไป..


เชียงคาน เมืองเล็กๆ ที่ผู้คนมากมายกำลังให้ความสนใจ อยากที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวสักครั้ง ด้วยคำล่ำลือถึงความงามและสงบของเชียงคาน และผู้คนที่อัธยาศัยไมตรีดีนักหนา 

เชียงคานตั้งอยู่ที่ จังหวัดเลย เป็นอำเภอหนึ่งที่มีอาณาเขตติดกับแม่น้ำโขงซึ่งกั้นเขตแดนไทยลาว ถามว่าเชียงคานมีอะไรน่าสนใจและอะไรสะดุดตาบ้างในเชียงคาน สิ่งที่เราเห็นถึงเสน่ห์ของเชียงคานอันดับแรก คงจะเป็น บ้านเรือนไม้ ที่ยังคงอนุรักษ์กันไว้ พร้อมกับการเกิดขึ้นของร้านของที่ระลึกนับสิบ และที่พักแบบเกสต์เฮาส์หรือโฮมสเตย์อีกมากมาย ที่พร้อมใจกันนำเอาอาคารไม้แบบดั้งเดิม มาตบแต่งเสียใหม่ให้น่ารักเก่ไก๋ แถมยังราคาไม่แพงอีกด้วย 

ต่อมาคือเสน่ห์ริมโขง ธรรมชาติที่สวยงาม วิวที่เชียงคานนี้ สวยชนิดที่ว่า หาชมแบบนี้ได้ยากจากที่อื่น 

จุดถ่ายรูป มีมากมายชนิดที่ว่า เที่ยวกัน3วันไม่แน่ว่าจะถ่ายกันหมดมั๊ย กับร้านเก๋ๆ ที่จัดมุมถ่ายรูปไว้เรียกลูกค้าล้วนแต่สวยๆน่าสนใจทั้งนั้น หลายร้านยังนิยมเล่นคำ กับป้าย พวกคำว่า “เลย” และคำว่า “คาน” อย่างเช่น รักเลย เชียงคาน , ระวัง(ขึ้น)คาน เป็นต้น แค่อ่านป้ายก็เพลินแล้ว  

เชียงคานยังมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ในแง่มุมของผู้คน เพราะคนเชียงคาน คือ คนสายเลือดเดียวกับ หลวงพระบาง จึงมวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันหลายอย่าง ตั้งแต่ภาษา หรือการตักบาตรข้าวเหนียว 

สะดุดตากันไป ใครฝันจะไปเมืองคานส์ ที่ฝรั่งเศส ลองมาเมืองคาน ที่เลยนี้กันก่อน เพราะคนที่นี่เขาก็ติสไม่เบา มีศิลปินหลายคนย้ายตัวเองมาหาความสงบ สดชื่นอยู่ที่เชียงคาน ...วันนึงเราอาจจะเห็น เทศกาลภาพยนต์เมืองคาน จัดขึ้นที่ คาน เมืองไทย (เชียงคาน) หรือสาวๆจะไปแก้เคล็ดก็น่าสนใจ จะได้ไม่ขึ้นคาน ต้องมาเที่ยวเชียงคานนะจ๊ะ ...











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น